โรคกลัว(Phobia) คืออะไร? …มาทำความรู้จักกันเถอะ

ความกลัวเป็นสัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์ เพราะเป็นสิ่งที่จะทำให้มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ได้ เช่น หากกลัวความสูง กลัวคนแปลกหน้า หรือกลัวสัตว์ร้าย มนุษย์จะหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เกิดความกลัวซึ่งนั่นจะเป็นการปกป้องตัวเองให้พ้นจากภัยอันตราย 

แต่ถ้าหากความกลัวสิ่งนั้นมันมากเกินไป ในขณะที่คนอื่นเขาไม่กลัวกันและสิ่งนั้นมันก็ไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น และความกลัวที่มากเกินไปก็ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทำงานไม่ได้ จนมีพฤติกรรมที่ผิดปกติ แบบนี้ทางการแพทย์ถือว่าเป็นโรคกลัว(Phobia)ซึ่งจัดว่าเป็นความผิดปกติทางจิตชนิดหนึ่ง

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกลัว…

ทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดแต่มีความเป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากการที่เคยเจอเหตุการณ์ที่ไม่ดีในอดีต หรือมีปมฝังใจ รวมไปถึงการที่สารเคมีในสมองไม่สมดุลกัน และการถ่ายทอดทางพันธุกรรม อย่างไรก็ตามสาเหตุของอาการเหล่าจะขึ้นอยู่กับบุคคลเป็นรายๆไป

ลักษณะอาการของโรคกลัว

เมื่อพบสิ่งที่ทำให้กลัวจะมีอาการ ปวดศีรษะ ใจสั่น รู้สึกไม่มั่นคง หายใจไม่ทัน เหงื่อออก มือสั่น ปากสั่น บางคนเป็นหนักจนถึงขั้นหมดสติไปเลย

โรคกลัวมี 3 ประเภทหลักๆ

โรคกลัวเฉพาะอย่าง (specific phobia) เป็นโรคกลัวที่พบได้บ่อย เช่น กลัวงู กลัวแมลงสาบ กลัวผีเสื้อ ของมีคม กลัวเลือด กลัวที่มืด กลัวความสูง

โรคกลัวสถานการณ์ (agoraphobia) เป็นความกลัวของผู้ป่วยที่รู้สึกว่าหลบออกไปจากตรงนั้นได้ยากหรือขอความช่วยเหลือได้ยาก เช่น กลัวที่แคบ ห้องไม่มีหน้าต่าง กลัวการนั่งรถตู้ด้านหลัง กลัวการอยู่ในที่มีคนเบียดเสียด

โรคกลัวสังคม (social phobia) เมื่อผู้ป่วยกำลังตกเป็นเป้าสนใจของคนอื่น ผู้ป่วยจะแสดงอาการกลัว และมีอาการประหม่า เช่น การขึ้นรถเมล์  พูดผ่านไมโครโฟน การพูดหน้าชั้น

เป็นโรคนี้แล้วต้องรักษายังไง

แพทย์จะใช้วิธีการรักษา 2 แบบคือ

พฤติกรรมบำบัด (behavioral therapy) ให้ผู้ป่วยเผชิญกับสิ่งที่กลัวแบบค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากสิ่งที่กลัวน้อยๆก่อนแล้วค่อยๆขยับไปหาสิ่งที่กลัวมากๆ  ช่วงแรกๆผู้ป่วยอาจยังรู้สึกไม่ค่อยสบายใจ เพราะต้องเผชิญกับสิ่งที่กลัว แต่ถ้าทำไปเรื่อยๆเขาจะเริ่มชินและความกลัวจะค่อยๆหายไปเอง

รักษาด้วยยา (pharmacotherapy) แพทย์จะพิจารณาการรักษาเป็นรายบุคคลไป หากผู้ป่วยมีความกลัวมากๆและทำพฤติกรรมบำบัดไม่สำเร็จ เเพทย์ก็จะใช้ยาแก้โรคซึมเศร้าบางชนิด ยาโรคจิตบางชนิด และยาระงับอาการสั่น เพื่อช่วยให้ความกลัวของผู้ป่วยลดลง แต่ในขณะเดียวกันเมื่อทานยาแล้วก็ต้องให้ผู้ป่วยทำพฤติกรรมบำบัดควบคู่ไปด้วย เพราะการใช้ยาเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยหายขาดได้ เมื่อผู้ป่วยประสบความสำเร็จในการทำพฤติกรรมบำบัดแล้ว แพทย์จะค่อยๆลดยาลง จนหยุดยาได้

เมื่อเป็นโรคกลัวแล้วจำเป็นต้องรีบเข้ารับการรักษาจากแพทย์ หากเป็นแล้วปล่อยไว้นานๆ อาจนำไปสู่ภาวะโรคซึมเศร้าได้ สังเกตตัวเองและคนรอบข้างบ่อยๆจะได้หาหมอและแก้ไขโรคนี้ได้ทัน!!

อ้างอิง1

อ้างอิง2

Photo by Vadim Bogulov on Unsplash