ก่อนจะถึงช่วงวันนั้นของเดือน สาวๆส่วนใหญ่อาจมีสภาพอารมณ์ที่แกว่งๆ กันไปบ้าง บางคนอาจเหวี่ยงๆ วีนในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง หรือ รู้สึกเศร้าๆกว่าปกติ ทำความเข้าใจตัวเองกันสักหน่อยดีมั๊ย เกี่ยวกับกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน ‘PMS’ หรือ Premenstrual Syndrome
อาการ PMS คืออะไร
พบเจอได้ถึงเกือบ 80% ของสาวๆ ในกลุ่มช่วงอายุ 20 – 40 ปี อาการนี้อาจทำให้รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว อารมณ์หงุดหงิด ชวนทะเลาะง่ายกว่าปกติ ช่วงก่อนรอบเดือนจะมา 5 – 11 วัน (เฉลี่ย คือ 6 วัน) และ อาการจะดีขึ้นเองหลังจากประจำเดือนมาแล้วใน 4 – 7 วัน ส่วนอีกประมาณ 2% กลับมีอาการที่รุนแรงกว่าเพราะเกี่ยวข้องกับปัญหาสภาพจิตใจ ที่เรียกว่า PMDD (Premenstrual Dysphoric Disorder) ด้วย
สาเหตุ/ปัจจัย
PMS จะแสดงออกเป็น 2 กลุ่มอาการ คือ ด้านจิตใจและอารมณ์ เช่น ความเครียด/กังวล ซึมเศร้า หรือ หงุดหงิดง่าย และ อาการทางด้านร่างกาย เช่น หิวบ่อย คัดหรือเจ็บเต้านม ตัวบวม ปวดหัว/ปวดหลัง หรือนอนไม่หลับ. แม้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดแต่ทีมวินัยในสหรัฐฯ ได้กล่าวถึงปัจจัยต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับ สาเหตุอาการ PMS ว่ามาจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม , ค่าของฮอร์โมนเพศหญิง , อุปนิสัย , สิ่งแวดล้อม , การทานวิตามิน และ แร่ธาตุต่างๆ
อยู่กับมันให้ได้ / รับมือกับ PMS
ช่วงเวลานี้อาจอยู่กับเราประมาณ 150 วัน หรือ เกือบครึ่งปี! เพื่อจะเรียนรู้-รับมือกับเรื่องผู้หญิงๆ พร้อมบรรเทาอาการความไม่สบายใจและเนื้อตัวของสาวๆ จึงต้องรักษาสุขภาพกาย-สุขภาพใจให้แข็งแรง มีไลฟ์สไตล์ที่ดี เช่น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ดูแลน้ำหนัก , ทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผัก-ผลไม้ที่มีวิตามินสูง ธัญพืช ถั่ว และ ปลาทะเล , หลีกเลี่ยงอาหารที่เค็มจัด/หวานจัด เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ /การสูบบุหรี่ , นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ , พยายามลดความเครียดโดยทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย-ออกไปพบปะเพื่อนฝูงบ้าง
นอกจากนี้ ยังสามารถปรึกษาแพทย์ หากรู้สึกว่าเกี่ยวข้องกับอาการ PMDD เพื่อทานยาตามอาการ หรือ ปรับฮอร์โมน ในทุกๆวัน ก็ควรพยายามมองโลกในแง่ดี เพื่อลดปัญหาทางด้านจิตใจ และสู้กับความอ่อนแอทางด้านร่างกายโดยปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์อย่างที่แนะนำกันมานะคะ 🙂
ภาพถ่ายโดย Andrea Piacquadio จาก Pexels