ตราบเท่าที่มนุษย์ยังมีชีวิตอยู่ คนเราก็ยังไม่มีทางหนีพ้นความเครียดได้ และเมื่อเราพูดถึงความเครียดแล้ว เราก็มักจะนึกถึงอะไรๆที่มันมีผลกระทบในทางไม่ดีเสมอ แต่ที่จริง ถ้าคุณเองรับมือกับความเครียดได้ดีแล้วล่ะก็ มันจะกลายเป็นแรงผลักดันที่ดีเลยแหละในการพัฒนาตัวเองและช่วยให้สมองมีสุขภาพดี
บางครั้งในชีวิต เมื่อเรากำลังตั้งเป้าหมายอะไรบางอย่าง ผู้เชี่ยวชาญได้ให้คำเเนะนำไว้ว่า เราควรใช้วิธีการ นำความเครียดในสมองมาใช้ให้เป็นประโยชน์ โดยการตั้งเป้าหมายในแบบที่ตัวเองน่าจะทำให้สำเร็จได้จริงๆ
คนเก่งใช้ความเครียดในสมองให้เป็นประโยชน์
สำหรับคนที่ทำงานเก่ง มักจะจัดการกับความเครียดได้ดีด้วย สังเกตว่าคนที่ทำงานเก่งมักมีนิสัยตั้งเป้าหมายให้กับตัวเอง และก็ตัดสินใจลงมือทำ เมื่อทำสำเร็จแล้ว ถึงจะมีความพึงพอใจในตัวเอง คนทั่วไปปกติแล้วจะรู้สึกว่า “ฉันจะต้องทำอะไรให้เร็วกว่านี้ แม้สักวินาทีนึงก็ยังดี” หรือ “ผมจะทำเวลาให้ดีกว่าคนอื่นให้ดู” แล้วเมื่อทำไม่สำเร็จก็มักจะเสียใจ แต่คนกลุ่มนั้นที่ประสบความสำเร็จในด้านธุรกิจ พวกเขาไม่ได้ทำงานแข่งกับคนอื่นแบบนั้นหรอกนะ
การทำอะไรสักอย่างแบบมีเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงานหรือการเล่นก็ตาม จะทำให้เกิดความเครียดกับสมองได้ แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณวางเป้าไว้อย่างไรและทำตามอย่างไรด้วย เพราะบางทีความเครียดนั้น ก็อาจจะเป็นความเครียดที่ดีก็ได้ ซึ่งมันจะช่วยให้เรามีแรงกระตุ้นและปรับเปลี่ยนการทำงานของสมองใหม่ ลองมองดูผู้ประสบความสำเร็จในวงการต่างๆดูสิ พวกเขาล้วนเป็นคนที่รู้จักใช้ความเครียดในการทำงานและช่วยบรรลุเป้าหมายอย่างดีทั้งนั้น
เป้าหมายที่ดี คือเป้าหมายที่ “มีโอกาสสำเร็จที่50%”
ในการทดลองกับสัตว์ครั้งหนึ่ง มีรายงานที่มีผลน่าสนใจบอกว่า สารโดปามีนเป็นปัจจัยที่ช่วยให้สมองของสัตว์ทำงานสำเร็จในงานแต่ละอย่าง ซึ่งมีผลต่อเนื่องจนสำเร็จได้ถึง 50% เลยด้วย
สารโดปามีน เป็นสารที่ผลิตเซลล์ประสาทในสมอง และเมื่อถูกหลั่งออกมาจะก่อให้เกิดความรู้สึก มีความสุขหรือตื่นเต้นดีใจ และความรู้สึกที่เป็นแรงกระตุ้น เมื่อสมองผลิตสารนี้อย่างต่อเนื่องระหว่างทำงานก็หมายความว่าคุณจะรู้สึกทำงานได้อย่างสนุกและบรรลุเป้าหมายได้ในเวลาเดียวกัน
นอกจากนั้น โดปามีนยังกระตุ้นสมองส่วนรวมให้เกิดประสิทธิภาพที่จะสร้างโอกาสทำงานสำเร็จมากขึ้นด้วย พูดอีกอย่างคือ การตั้งเป้าหมายของงานไว้ที่โอกาสสำเร็จ 50% จะช่วยให้มีความเครียดแบบดีๆนี้นั่นเอง ทั้งหมดนี้ทำให้ตัวคุณเปลี่ยนไปในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าเราตั้งเป้าหมายไว้สูงเกินไปแบบที่ทำยาก สมองก็จะหมดแรงกระตุ้นที่ว่านี้ ดังนั้น ขอให้คุณตั้งเป้าให้ใกล้เคียงความจริงไว้ ถึงแม้ว่าตอนแรกรู้สึกว่าไกลเกินเอื้อม เพราะความพึงพอใจจากการบรรลุเป้าหมายจะนำไปสู่ความสุขและความปราถนาจะบรรลุเป้าหมายต่อๆไปด้วย
ระวังไม่ให้อยู่ใต้ความเครียดนานเกินไป
เพื่อจะบริหารความเครียดอย่างดี จำเป็นต้องคิดก่อนว่าเราเองอยู่ใต้ความเครียดมานานแค่ไหน เป็นที่รู้กันว่าเมื่อสมองต้องเจอกับความเครียดมากๆ เซลล์สมองโดยเฉพาะบริเวณที่เป็นประสาทส่วนที่เรียกว่าฮิปโปแคมปัส ที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำจะโดนทำลาย เช่น มีรายงานว่าคนที่มักจะเก็บตัวและรักตัวเองเกินไปจะเป็นโรคความจำเสื่อมง่าย โรคความจำเสื่อมเกิดเวลาที่เซลล์สมองถูกทำลายมากๆจนเริ่มลีบ และเชื่อกันว่าสมองจะเสียหายกับคนที่เก็บตัวมากกว่าคนอื่นๆ เพราะว่าเขามักจะตกอยู่ใต้ความเครียดและเก็บกดความในใจกับตัวเองเป็นเวลานาน
เพื่อจะหลีกเลี่ยงความเครียดระยะยาวนั้น เป็นเรื่องดีที่จะตั้งเป้าของกิจกรรมในแต่ละวัน เป็นเป้าหมายเล็กๆน้อยๆ เช่น ระยะสั้นในหนึ่งวันหรือสัปดาห์ก็พอ ถ้าหากคุณต้องการจะเพิ่มผลประกอบการของบริษัทในปีหน้าเป็นสองเท่า ลองตั้งเป้าที่คุณสามารถทำได้สำเร็จในระยะสั้น เช่น เพิ่มจำนวนลูกค้าในสัปดาห์นี้ให้ได้ก่อน ถ้าคุณทำได้ในสัปดาห์นั้น คุณก็จะหายเครียดและมีความพอใจกับตัวเอง ก้าวไปข้างหน้าทำเป้าต่อไปในสัปดาห์ถัดๆไปนั่นเอง
สมองของคุณ ต้านทานความเครียดได้ดีแค่ไหน?
สมองยังมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคลด้วย เมื่อพูดถึงความเครียด เช่น สำหรับบางคนแล้วมีพันธุกรรมที่แข็งแรงที่ต้านทานความเครียดได้ดีในสมอง แต่บางคนก็มีสมองแบบที่อ่อนแอ นี่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากกับการส่งผ่านสารเซโรโทนินของระบบประสาท และอาจพูดได้ว่า คนคนหนึ่งที่มีการหลั่งสารนี้อย่างต่อเนื่องในระดับสูงจะมีจิตใจสงบและป้องกันความเครียดได้ดีกว่านั่นเอง
แน่นอนว่า ภูมิคุ้มกันความเครียดแข็งหรืออ่อนนั้นไม่ได้บ่งบอกว่า สมองของคนไหนทำงานได้ดีกว่าใคร สิ่งที่สำคัญกว่าคือคุณจะควบคุมความเครียดได้ดีขนาดไหนต่างหาก และทำให้มันเป็นความเครียดชนิดที่ดีกับตัวเองได้มากน้อยแค่ไหนนั่นเอง เพื่อจะทำแบบนั้นได้ คุณต้องตั้งเป้าหมายที่เหมาะกับตัวเอง แม้ว่าเพื่อนของคุณอาจทำได้ร้อยเต็ม เราเองอาจเอาแค่ 60% ก็พอ อย่าไปสนใจรอบข้างมากมาย และทำในแบบของตัวเองคือทางลัดที่เราแนะนำ
ใช้สมองซีกขวาบ้าง จะสดชื่นกว่าเมื่อทำงานด้วยสมองซีกซ้าย
สมองแยกเป็นสองส่วนคือซ้ายกับขวา ทางขวานั้นทำงานทางด้านการฟังเพลงและการจดจำภาพ อาศัยการใช้ความคิดจินตนาการในการเก็บภาพโดยรวม ส่วนอีกฝั่ง ทางซ้ายนั้นทำงานด้วยการจำคำศัพท์หรือตัวเลขทำให้ทำงานแบบมีตรรกยะได้ดีกว่า
ยกเว้น ศิลปินและนักกีฬา นักธุรกิจส่วนใหญ่หรือคนทำงานในปัจจุบันแทบจะทั้งหมดทำงานด้วยสมองด้านซ้าย แต่เราก็อยากจะกระตุ้นสมองฝั่งขวาแบบอัจฉริยะคนนี้ด้วยการฟังเพลง หรือ การมองภาพหรือวาดรูประหว่างทำงาน เพราะว่าไม่ใช่จะช่วยให้สมองฝั่งซ้ายได้พักผ่อนเท่านั้น แต่เมื่อเปลี่ยนสลับมาฝั่งขวาทำงานแล้ว พอกลับไปทำงานต่อสมองฝั่งซ้ายก็จะทำงานดีขึ้นด้วยทันที แต่ถ้าคุณอาจจะทำงานปกติด้วยฝั่งขวาล่ะก็ คุณอาจจะลองเล่นกับสมองฝั่งซ้ายดูบ้างก็ได้ เพราะเมื่อเราทำให้สมองสดชื่นด้วยการทำอะไรแตกต่างออกไปจากเดิม คุณจะช่วยให้สมองสดใสในการทำงานหลักได้ดีเลย
ในเมื่อตอนนี้พวกเราคุยเกี่ยวกับความสัมพันธ์กันระหว่างสมองและความเครียดไปหมดแล้ว เพื่อนๆคงเริ่มเห็นชัดแล้วว่าทำไมในตอนแรกผมถึงพูดว่าน่าประทับใจที่เห็นคนทำงานเก่ง รับมือกันบความเครียดได้ดีมาก ความเครียดอาจจะมีทั้งข้อดีและข้อเสียต่อสมองก็ได้ เราทั้งหลาย ที่มีชีวิตอยู่ในยุคสังคมแห่งความเครียดจำเป็นต้องได้รับปัญญาที่จะช่วยให้เรารับมือความเครียดได้อย่างเกิดผลและส่งเสริมชีวิตเราให้มีความสุขนั่นเอง
Photo by Jesse Martini on Unsplash