สาเหตุ&อาการ BDD- ‘โรคไม่ชอบรูปร่างหน้าตาตัวเอง’

มองหน้าตัวเองในกระจกทีไร ก็ตินั่นตินี่… ไว้รอมีตังค์เมื่อไหร่นะจะศัลยกรรมให้สมใจอยากกันไปเลย ส่วนบางคนแม้ว่าจะปรับเปลี่ยนรูปร่าง-หน้าตาตัวเองไปไม่รู้กี่รอบๆ ก็อาจยังคิดว่าไม่สวย-ไม่หล่อสักที.. ส่อเค้า ‘โรคไม่ชอบรูปร่างหน้าตาตัวเอง ‘ หรือ BDD รึป่าว?!

BDD คืออะไร

Body Dysmorphia Disorder หรือ BDD คือ ศัพท์ทางการแพทย์เรียก ‘โรคไม่ชอบรูปร่างหน้าตาตัวเอง’ ซึ่งเป็นกลุ่มอาการทางจิตเวช ผู้ป่วยมักจะย้ำคิดย้ำทำ ชอบคิดไปเองว่าตัวเองหน้าตาน่าเกลียด อยากทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไข จนเกิดความวิตกกังวลซึ่งส่งกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน. โรคนี้เฉลี่ยแล้วจะพบในเพศหญิงร้อยละ 34% ส่วนเพศชายประมาณร้อยละ 25% และมักเกิดขึ้นในช่วงอายุระหว่าง 15 – 30 ปี 

สาเหตุ

โรคไม่ชอบรูปร่างหน้าตาของตัวเอง มาจากพื้นฐานภายในจิตใจของผู้ป่วยซึ่งอาจรู้สึกไม่มั่นใจ ไม่เห็นคุณค่าในตนเอง จากค่านิยมในครอบครัว , ปมจากการถูกล้อเลียนในวัยเด็ก อีกทั้งอิทธิพลของสื่อโฆษณาและสิ่งแวดล้อมที่เน้นย้ำในด้านความสวยความงาม หรือ ผลักดันให้กังวลในเรื่องรูปร่างหน้าตามากเป็นพิเศษ

อาการ vs การรักษา

สัญญาณเตือน คือ การเน้นย้ำในข้อบกพร่องของตัวเอง , ส่องกระจกบ่อยๆ ประมาณ 3-8 ชั่วโมงต่อวัน , มีความคิดอยากเปลี่ยนแปลงรูปร่าง-หน้าตาตลอดเวลา , ถามย้ำๆ กับคนรอบข้าง , แต่งหน้านานเป็นพิเศษ (ไม่ยอมออกไปไหนหากไม่ได้ทำเช่นนี้) , การเสพติดศัลยกรรม (ทำเท่าไหร่ก็ไม่เคยพอ) ควบคู่กับความเครียด-นอนไม่หลับต่อเนื่องเกินกว่า 6 เดือน จนขาดสมาธิ กระทบต่อการใช้ชีวิต หรือ เป็นอุปสรรคในการเข้าสังคม ก็จำเป็นต้องหาทางรักษาโดยเร็ว ก่อนนำไปสู่โรคร่วม เช่น อาการซึมเศร้ารุนแรงที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย 

…BDD รักษาได้ เข้าปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อประเมินอาการ&รักษาตามความเหมาะสม โดยอาจมีการให้ยาในกลุ่มคลายความกังวล , ยาต้านเศร้า ร่วมกับการบำบัดพฤติกรรม ตามแต่ละเคสของผู้ป่วย…

อย่าอายที่จะพบแพทย์ ทั้งเพื่อความสบายใจของตัวเอง หรือ รู้ตัวว่าป่วยก่อนที่อาการจะลุกลามร้ายแรง ย้ำว่าแม้การปกปิดความบกพร่อง/แต่งหน้าหรือ ศัลยกรรม ที่คนทำกันทั่วบ้านทั่วเมือง หากทำแล้วพอใจ ก็ไม่จัดว่าเป็น BDD นะคะ แต่เมื่อไหร่ที่หยุดไม่ได้นี่สิถึงน่าห่วง!

Photo by Fares Hamouche on Unsplash