วิธีดูแลจิตใจผู้สูงวัยในครอบครัว

การดูแลผู้สูงวัยเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะวัยที่เปลี่ยนไปทำให้สุขภาพร่างกายและจิตใจเปลี่ยนไปด้วย เพื่อให้ท่านรู้สึกอบอุ่น และสบายใจ เรามาดูแลจิตใจผู้สูงวัยด้วยวิธีง่ายๆ เหล่านี้ด้วยกันนะคะ

ใช้ความเข้าใจ

เป็นเรื่องปกติของผู้สูงอายุที่มักจะเอาใจยาก พออายุเยอะขึ้น ร่างกายที่ค่อยๆเสื่อมลง เจ็บป่วยบ่อยขึ้น จิตใจ และอารมณ์ก็เริ่มไม่ปกติ เพื่อให้การดูแลเป็นเรื่องง่ายสิ่งที่เราทำได้คือ ใช้ความเข้าใจค่ะ เอาใจเราไปใส่ใจท่าน พยายามเข้าใจว่าคนวัยนี้ชอบกินอะไร ? อยากไปไหน และทำอะไร ?

สิ่งที่ต้องระวังมากๆคือ อย่าปฎิบัติเหมือนกับท่านเป็นเด็ก ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ พยายามให้ท่านมีส่วนร่วมในการดูแลตัวเองเพื่อท่านจะรู้สึกดี และเห็นว่าตัวเองยังมีค่าอยู่ 

ระวังคำพูด

คำพูดที่ไม่รู้จักคิด เป็นเหมือนการแทงของกระบี่ ถึงแม้จะไม่มีบาดแผลแต่เจ็บนาน คำพูดที่เราต้องหลีกเลี่ยงเมื่อพูดกับผู้สูงอายุคือ 

  • บอกหลายครั้งแล้ว ทำไมไม่จำซักที !
  • เรื่องง่าย ๆ แค่นี้ทำไมทำไม่ได้ !
  • พ่อแม่คนอื่นไม่เห็นเป็นแบบนี้เลย !
  • ตอนนี้ไม่มีเวลา มีอะไรเอาไว้คุยวันหลังนะ !

คำพูดเหล่านี้เป็นเหมือนการออกคำสั่ง เสียดสี เปรียบเทียบซึ่งทำให้ท่านรู้สึกได้ว่า เราเริ่มหงุดหงิด รำคาญ และเบื่อท่านได้ ซึ่งจะทำให้ท่านเจ็บปวด เสียใจได้ค่ะ

จัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม

สิ่งแวดล้อมที่เราควรเอาใจใส่ผู้สูงวัย น่าจะเป็นในด้านความสะดวกและปลอดภัยในการเดิน การนอน ห้องน้ำ และอาหารค่ะ ทำให้เห็นว่าเรารักและห่วงใยท่านมากขนาดไหน เช่น ถ้ารู้ว่าท่านมีปัญหาเรื่องสุขภาพควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทไหน เราก็ไม่ควรซื้อเข้าบ้านค่ะ ให้ท่านนั่งกินข้าวพร้อมกันกับเราถ้าเป็นไปได้ ทำให้ท่านรู้สึกอบอุ่นและเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว หาอุปกรณ์เสริมที่ช่วยให้ท่านลุก เดิน สะดวกขึ้น อย่างน้อยท่านก็จะได้ภูมิใจว่ายังช่วยตัวเองได้โดยที่ไม่เป็นภาระของลูกหลานมากเกินไปค่ะ

ดูแลและใส่ใจช่วยได้เยอะ 

คนเราพออายุมากขึ้นก็จะกลับไปมีนิสัยแบบเด็กๆ ที่ชอบให้ลูกหลานเอาใจ คอยดูแลอยู่ใกล้ๆ ชอบอะไรง่ายๆ ทั้งเรื่องการกิน การแต่งตัว ชอบทำตัวสบายๆ ถ้าเราเข้าใจ การดูแลท่านตามวัย ทั้งด้านร่างกาย และจิตใจ ระวังคำพูดหน่อย ท่านก็จะพอใจและมีความสุขแล้วล่ะค่ะ

ภาพถ่ายโดย Edu Carvalho จาก Pexels