มารู้จักโรคกลัวการเข้าสังคม

โรคกลัวการเข้าสังคม เป็นความผิดปกติทางจิตใจที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกวิตกกังวลและกลัวการเข้าสังคม กลัวการพบปะผู้คนที่ไม่คุ้นเคย จึงพยายามหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่สาธารณะ จนส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันและความสัมพันธ์กับผู้อื่น หลายคนเคยมีอาการประหม่า มือชื้นเหงื่อ ใจเต้นแรง พูดติดๆขัดๆ เมื่อต้องออกไปยืนรายงานหน้าห้องเรียนหรือนำเสนองานต่อหน้าที่ประชุม อาการเหล่านี้เป็นความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่ใช่อาการของคนที่เป็นโรคกลัวการเข้าสังคมค่ะ แล้วอาการแบบไหนถึงจะเรียกว่าเป็นอาการของคนที่เป็นโรคกลัวการเข้าสังคมล่ะ?

อาการที่ปรากฎทางร่างกาย

ผู้ป่วยอาจมีอาการมวนท้อง คลื่นไส้ เวียนศรีษะ หน้าแดง ตัวสั่น หายใจติดขัด กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง  เหงื่อออกมาก และหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ

อาการที่ปรากฎทางพฤติกรรมและจิตใจ

  • มีความวิตกกังวลอย่างรุนแรงกับการสบตากับผู้อื่น การพูดคุยกับคนแปลกหน้า หรือการเข้าร่วมงานเลี้ยง
  • กังวลล่วงหน้ากับเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้นนานหลายวันหรือหลายสัปดาห์
  • กังวลว่าตนเองจะถูกคนอื่นตัดสิน เยาะเย้ย ถากถางหรือทำเรื่องน่าอายต่อหน้าคนอื่น
  • พึ่งพาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ทางสังคม

หากดูตามอาการแล้วคิดว่าตนเองหรือคนที่คุณรักอาจเป็นโรกลัวการเข้าสังคม อย่าเพิ่งวิตกกังวลไปค่ะ โรคนี้สามารถรักษาได้ วิธีการรักษานั้นทำได้ทั้งการดูแลตัวเองด้วยจิตบำบัดและการใช้ยารักษาโรค อาจใช้วิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธีร่วมกัน ดังนั้น การพบแพทย์โดยเร็วเป็นวิธีที่ดีที่สุดค่ะ

Photo by M.T ElGassier on Unsplash