หลายคนรู้สึกกลัว หรือประหม่า เมื่อต้องเข้าสังคมพบปะกับผู้คนหรือทำกิจกรรมต่างๆ ในที่ๆผู้คนอยู่เยอะ แต่ไม่นานความรู้สึกกลัวและประหม่าก็หายไป หรืออาจจะเกิดขึ้นแค่บางครั้งเท่านั้น แต่บางคนไม่เป็นอย่างนั้น พวกเขากลับมีความรู้สึกแบบนั้นตลอดเวลา เมื่อต้องอยู่ในสังคมคนหมู่มาก จนไม่สามารถควบคุมร่างกายและจิตใจได้ พวกเขาเลยต้องแสดงอาการกลัวออกมาให้คนอื่นเห็น
โดยทางการแพทย์จะเรียกอาการแบบนี้ว่า “โรคกลัวสังคม” ( Social Anxiety Disorder หรือ Social Phobia) ซึ่งโรคนี้ได้กลายมาเป็นอุปสรรคอย่างมากในการใช้ชีวิตประจำวันของคนเรา แต่โรคนี้สามารถรักษาให้หายได้โดยการดูแลตัวเอง ทำจิตบำบัด และทานยาค่ะ
สำหรับวันนี้เรามาดูรายละเอียดเพิ่มเติมกันสักนิดดีมั้ยคะ ว่าโรคกลัวสังคมเนี่ยอาการมันเป็นยังไง ? สาเหตุเกิดจากอะไร ? และการรักษาโรคนี้ใช้วิธีอะไรบ้าง ?
ลักษณะอาการของ โรคกลัวสังคม (Social Phobia)
ผู้ป่วยจะมีอาการเวียนศีรษะ หน้ามืด ใจสั่น เหงื่อออกมาก พูดจาติดขัด คิดอะไรไม่ค่อยออก เมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ที่มีผู้คนเยอะ และตัวเองก็กลายเป็นจุดสนใจของผู้อื่น เช่น เมื่อต้องนำเสนองานในที่ประชุมหรือหน้าชั้นเรียน
นอกเหนือจากอาการดังกล่าวแล้ว ผู้ป่วยยังสามารถแสดงอาการแบบนี้ออกมาให้เห็นด้วยคือ พวกเขาจะหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ต้องเข้าสังคม หรือถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็พยายามทำตัวกลมกลืนไปเลย และพยายามไม่ให้ตัวเองเป็นจุดสนใจของคนอื่น ส่วนบางคนก็จะมีอาการวิตกกังวลอย่างมากเมื่อต้องเข้าสังคม เช่น การเข้าร่วมงานเลี้ยง พูดคุยกับคนแปลกหน้า หรือแม้แต่ไม่กล้าสบตากับผู้อื่น เลยด้วยซ้ำ
สาเหตุของโรคกลัวสังคม
- อาจเป็นเพราะการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ถ้าคนในครอบครัวเคยมีประวัติเป็นโรควิตกกังวลมาก่อน ก็มีความเสี่ยงสูงในการเป็นโรควิตกกังวลได้เช่นกัน
- เคยอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้าย จนจำฝังใจ เช่น ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกเพื่อนรังแก มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ถูกดุด่าเป็นประจำ การเจอสถานการณ์เหล่านี้อาจทำให้รู้สึกหวาดกลัวเมื่อต้องเข้าสังคม
- เกิดจากความผิดปกติของสมองในส่วนที่้เรียกว่า อะมิกดาลา ( Amygdala ) ซึ่งทำหน้าที่ตอบสนองต่อความกลัว ถ้าสมองถูกกระตุ้นให้ตื่นตัวมากเกินไป บุคคลนั้นอาจตอบสนองต่อความกลัวสังคม ด้วยความเครียดและกังวลเพิ่มมากขึ้น
วิธีรักษาโรคกลัวสังคม
เริ่มจากร่างกาย
- ออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุขออกมา เช่น สารโดปามีน , เซโรโทนิน , เอนดอร์ฟีน
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ทานอาหารที่มีประโยชน์ในแต่ละวัน หลีกเลี่ยงหรือจำกัดปริมาณ อาหารและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ช็อกโกแลต โซดา เพราะสารคาเฟอีนอาจไปกระตุ้นให้เกิดความวิตกกังวลได้
ทำจิตบำบัด
ปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม โดยการพูดคุยกับนักจิตบำบัดเพื่อให้รู้สึกคลายความวิตกกังวล และปรับความคิดในแง่ลบ ให้เป็นความคิดบวก วิธีนี้ถือว่าเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการรักษาโรควิตกกังวล
ฝึกให้ผู้ป่วยได้เผชิญกับสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกกลัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และช่วยผู้ป่วยให้มีความมั่นใจและทักษะการรับมือ กับความวิตกกังวลในสถานการณ์นั้น
ให้ผู้ป่วยได้ทำกิจกรรมต่างๆกับคนในกลุ่มที่มีอาการกลัวสังคมเหมือนกัน เพื่อให้เขาได้เรียนรู้ทักษะในการเข้าสังคม และเกิดปฎิสัมพันธ์ระหว่างคนในกลุ่ม
รักษาโดยการทานยา
อาจต้องใช้ยาหลายชนิดในการรักษา โดยยาที่นิยมนำมาใช้ คือ กลุ่มยาต้านเศร้าเอสเอสอาร์ไอ (SSRIs) เช่น ยาพาร็อคซีทีน (Paroxetine) ยาเซอร์ทราลีน (Sertraline) หรือ ยารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่มเอสเอ็นอาร์ไอ (SNRIs) อย่างยาเวนลาฟาซีน (Venlafaxine) โดยแพทย์จะจ่ายยาให้กับผู้ป่วยในปริมาณที่น้อยก่อน แล้วค่อยๆเพิ่มปริมาณมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา
โรคกลัวสังคมสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ถ้าเป็นแล้วก็สามารถรักษาให้หายได้ โดยการปรับเปลี่ยนความคิดและมุมมอง หรือบางกรณีอาจต้องใช้ยาเข้ามารักษาด้วย ซึ่งก็แล้วแต่ความเห็นของแพทย์
และใครที่คิดว่าตัวเองมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ผู้เขียนขอให้คุณเข้าพบจิตแพทย์โดยด่วนเลยนะคะ เพราะถ้าปล่อยอาการไว้นานการรักษาจะทำได้ยากขึ้นค่ะ
Photo by guille pozzi on Unsplash