คิดซ้ำๆ ทำบ่อยๆ เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ(OCD)รึป่าวนะ?…

ปิดน้ำ ปิดไฟ ปิดแอร์ ปิดเตาแก๊สรึยังนะ… สิ่งเหล่านี้คือพฤติกรรมที่คนเราจะต้องเช็คความเรียบร้อยก่อนออกจากบ้าน เพื่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน แต่ถ้าหากเราเอาแต่คิดวนๆ ซ้ำๆ ว่าเราปิดนู่นปิดนี่รึยัง คิดอยู่แบบนี้เรื่อยๆจนไม่มีสมาธิที่จะทำงาน เราอาจเข้าข่ายเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำแล้วก็ได้นะ ทางที่ดีลองเช็คอาการกันหน่อยดีกว่า

โรคย้ำคิดย้ำทำ  (Obsessive Compulsive Disorder) หรือ OCD  

คือ อาการของคนที่มีความคิดแบบซ้ำๆ เดิมๆคิดวกวน จนทำให้รู้สึกกังวลและไม่สบายใจ และต้องตอบสนองต่อความคิดโดยการทำสิ่งนั้นซ้ำๆ เพื่อคลายความกังวล ตัวเราเองจะมีความรู้สึกว่าทำไมต้องมาเสียเวลากับการทำแบบนี้ มันไม่มีเหตุผลเลย แต่ถึงยังไงก็ไม่สามารถหยุดความคิดและการกระทำนั้นๆได้ ทำให้เรารู้สึกเป็นทุกข์ทรมานจากอาการดังกล่าวมาก

อาการของโรคย้ำคิดย้ำทำ เราจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม

อาการย้ำคิด ความคิดต่างๆจะผุดขึ้นมาในสมอง แล้วเอาแต่คิดเรื่องนั้นซ้ำไปซ้ำมา ทำให้รู้สึกไม่สบายใจและกังวลใจมาก หรือบางครั้งก็จินตนาการไปเองว่าจะมีเรื่องไม่ดีต่างๆเกิดขึ้น 

ตัวอย่างเช่น จะรู้สึกไม่สบายใจทันทีหากเห็นสิ่งของวางไม่เป็นระเบียบ ,คิดว่ามือสกปรกตลอดเวลา ,คิดว่าลืมปิดเตาแก๊ส ปิดไฟ หรือลืมชักปลั๊กไฟออก

อาการย้ำทำ เป็นการตอบสนองต่ออาการย้ำคิด เพื่อลดความวิตกกังวล ทำให้รู้สึกสบายใจ แต่ในขณะเดียวกันผู้ป่วยจะไม่สามารถหยุดการกระทำนั้นได้ เช่นเดียวกับความคิด ทำให้มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก

ตัวอย่างเช่น คอยจัดระเบียบสิ่งของให้เป็นไปในแนวเดียวกัน ,ล้างมือหรืออาบน้ำบ่อยเกินไป ,เช็คบ่อยๆว่าปิดประตู ปิดเตาแก๊สรึยัง 

สาเหตุการเกิดโรคย้ำคิดย้ำทำ

ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่อาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน คือ 

  1. สมองทำงานผิดปกติ และระบบประสาทสื่อนำประสาททำงานบกพร่อง
  2. เป็นพันธุกรรมจากพ่อแม่ไปสู่ลูก
  3. เคยอยู่ในสภาพการณ์รุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจและทางกาย 

วิธีการรักษา

รักษาด้วยยาประเภทต่างๆ เช่น ยาต้านซึมเศร้าเพราะมีผลต่อระบบประสาท แต่จะส่งผลข้างเคียงคือ นอนไม่หลับ ปวดหัว คลื่นไส้ ,ยาคลายกังวลเพื่อช่วยลดอาการวิตกกังวล และยาโรคจิตซึ่งจะใช้ควบคู่ไปกับยาต้านซึมเศร้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา

การบำบัด ฝึกให้ผู้ป่วยเผชิญกับสิ่งที่ทำให้กังวลใจและกลัว เช่น ให้จับสิ่งของที่คิดว่าสกปรก แล้วรอเวลาสักครู่ค่อยให้ไปล้างมือ อาจเริ่มฝึกแบบนี้โดยใช้เวลาสั้นๆก่อน จากนั้นค่อยเพิ่มเวลามากขึ้น จนเขารู้สึกว่าสามารถจับสิ่งของต่างๆได้เป็นปกติโดยที่ไม่ต้องไปล้างมือบ่อยๆ 

***สำคัญคือคนที่เป็นผู้ฝึกให้กับผู้ป่วยต้องมีความอดทนมากๆ อย่าต่อว่าหรือดุด่าหากผู้ป่วยทำไม่สำเร็จเพราะเขาจะหมดกำลังใจในการรักษาทันที***

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกันตัวเองจากโรคนี้ 100% เพียงแต่หากเราเริ่มมีอาการดังกล่าวก็ควรที่จะไปพบแพทย์โดยทันทีเพื่อลดความรุนแรงของโรคที่อาจจะเกิดขึ้นได้

Photo by Marcos Paulo Prado on Unsplash