ขนมไทยเริ่มจะหากินยากเข้าไปทุกที ถ้าไม่ไปถึงถิ่นจริงๆ ก็จะหากินแทบไม่ได้ โดยเฉพาะขนมพื้นเมืองที่ทำในช่วงเทศกาลอย่างหนึ่งของภาคเหนือ นั่นก็คือขนมปาดค่ะ ส่วนหน้าตาและรสชาติจะเป็นยังไง ? ในบทความนี้มีข้อมูลดีๆมาให้ได้ติดตามกันค่ะ
ที่มาของขนมปาด
ขนมปาดถือเป็นขนมพื้นบ้านของทางภาคเหนือ ที่มีประวัติมานานมากกว่า 60 ปี ชาวบ้านจะทำขนมปาดในช่วงเดือนเมษายนหรือในช่วงเทศกาลสงกรานต์หรือปีใหม่คนเมือง เพื่อนำไปทำบุญในวันปีใหม่ และเพื่อเลี้ยงแขกที่มาเที่ยวตอนสงกรานต์ และจะทำอีกครั้งหนึ่งคือตอนที่มีงานปอยหรืองานบวช ทำปีละครั้งเท่านั้นค่ะ
วิธีทำ และรสชาติ
ขนมปาด ถึงแม้จะหากินยาก แต่วิธีทำ ก็ไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิดนะคะ ให้ให้เรามาดูส่วนผสมกันค่ะ แป้งข้าวจ้าว กับน้ำอ้อย น้ำปูนใส น้ำตาลทราย มะพร้าวทึนทึก น้ำดอกมะลิ บางสูตรจะใช้แป้งข้าวเหนียวด้วยค่ะ
วิธีทำ : เริ่มจากการนำเอาแป้งข้าวเจ้ามาร่อนเพื่อเอาสิ่งสกปรกต่างๆออก จากนั้นก็เอาแป้งที่ร่อนมาผสมกับน้ำอ้อย และน้ำปูนใส แล้วก็ใช้ไม้พายคนให้แป้งละลายเข้ากับน้ำอ้อยจากนั้นก็กรองด้วยผ้าขาวบาง และเทน้ำนั้นลงในกระทะทองเหลือง นำไปตั้งไฟใช้ความร้อนปานกลางค่ะ และใช้ไม้พายกวนจนแป้งสุก( ขั้นตอนนี้อาจต้องใช้แรงผู้ชายค่ะ ) เสร็จแล้วก็เทใส่ถาด หรือใบตองที่ทาน้ำมันเอาไว้ ทิ้งไว้ให้แห้ง หลังจากนั้นก็ตัดเป็นชิ้นเล็กๆ พอคำ และแต่งหน้าด้วยมะพร้าวขูดผสมเกลือเล็กน้อยค่ะ
หน้าตาขนมปาดจะออกสีน้ำตาลเข้มๆ รสชาติหวานมัน เวลาเคี้ยวก็จะมีความกรุบกรอบจากมะพร้าวทึนทึกที่หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ค่ะ
ขนมปาดขนมแห่งวิถีชีวิต
เหตุผลที่ขนมปาดหากินได้ยากและคนรุ่นใหม่อาจจะไม่คุ้นเคย และไม่รู้จัก เพราะเป็นขนมพื้นเมืองเหนือบางพื้นที่ ส่วนใหญ่จะทำกันในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์หรือปีใหม่เมือง และในงานบวชค่ะ ช่วงเทศกาลนี้ลูกหลานส่วนใหญ่จะอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา เพื่อรดน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่เพื่อเป็นสิริมงคล และทำอาหารและขนมไปทำบุญด้วย เป็นประเพณีที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เมื่อลูกหลานอยู่พร้อมกันก็สามารถช่วยกันกวนขนมปาด กินกันในครอบครัว และแจกให้กับแขกที่มาในงาน ถือเป็นการสร้างสายสัมพันธ์ในครอบครัวและความสามัคคีในชุมชนค่ะ
ขอบคุณรูปภาพจาก Reviewchiangmai ค่ะ